Home
| about us | เวชสำอางค์ | บทความ-สาระน่ารู้ |ติดต่อสอบถาม | แผนที่

บทความน่ารู้

- ความเครียด

- นอนไม่หลับ (Sleep problem)

- โรคซึมเศร้า

          ตอนที่ 1

          ตอนที่ 2

          ตอนที่ 3

          ตอนที่ 4

- โรคจิต….คืออะไร

- การผ่อนคลายความเครียด

- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี

- โรคแพนิค

- ไมเกรน

- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง

- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น

- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ

-โรคย้ำคิดย้ำทำ

เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น


          เด็กสมาธิสั้น หรือเด็ก ไฮเปอร์ หรือภาษาอังกฤษว่า ADHD (Attention Deficit/Hyperative Disorders) ความผิดปกติดังกล่าว เป็นโรคทางสมองที่ส่งผลถึงพฤติกรรมของเด็ก เกิดขึ้นก่อนอายุ 7 ปี จะแตกต่างจากเด็กซนตามวัยในช่วงอายุประมาณ 3-5 ปี ซึ่งจะดีขึ้นตามวัย แต่โรคสมาธิสั้นจะแสดงอาการอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียน มีอาการประกอบด้วย
1. สมาธิสั้น ( Inattention )
2. ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ( Hyperactivity )
3. หุนหันพลันแล่น ( Impulsivity )
         

          ต้องเป็นมาตลอดต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มีอาการเกิดก่อนอายุ 7 ปี และความรุนแรงของอาการมีผลต่อการปรับตัว และไม่เหมาะกับพัฒนาการของเด็ก สามารถสังเกตอาการได้ใน 2 สถานที่ขึ้นไป เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือห้องตรวจ เป็นต้น อาการสมาธิสั้น มีทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งเด็กสมาธิสั้นสามารถมีอาการมากกว่า 1 ประเภทได้

1. อาการขาดสมาธิ เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้สมาธิ เด็กจะแสดงอาการเหม่อลอยบ่อยๆ ทำงานไม่เสร็จ ผลงานมักจะออกมาไม่เรียบร้อยตกๆ หล่นๆ ขี้ลืม ทำของใช้หายเป็นประจำมีลักษณะเหมือนไม่ฟังเวลามีคนอื่นพูดด้วย

2. อาการซน เด็กมีลักษณะอาการซนยุกยิก อยู่ไม่สุข นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดิน หรือขยับตัวไปมา ชอบปีนป่าย เล่นเสียงดัง เล่นผาดโผน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย ประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ จากความซน และความไม่ระมัดระวัง พูดมาก พูดไม่หยุด

3. อาการหุนหันพลันแล่น เด็กจะมีอาการวู่วาม ใจร้อน ทำอะไรลงไปโดยไม่คิดล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขาดความระมัดระวัง เช่น วิ่งข้ามถนนโดยไม่มองซ้ายมองขวา เวลาต้องการอะไรจะต้องได้ทันที รอคอยไม่ได้ เวลาอยู่ในห้องเรียนมักพูดโพล่งออกมา โดยไม่ขออนุญาตครูก่อน มักจะตอบคำถามโดยที่ฟังยังไม่ทันจบ ชอบพูดแทรกในเวลาที่ผู้อื่นกำลังคุยกัน

4. อาการอื่นๆ ในบางรายเด็ก ADHD จะมีอาการดื้อ ต่อต้าน เกเร ก้าวร้าว หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย บางรายอาจจะมีพัฒนาการเด็กล่าช้า มีปัญหาทางด้านภาษา และการพูด บางรายจะมีปัญหาการประสานงานกล้ามเนื้อไม่ดี ปัญหาการเรียนรู้บกพร่อง ในบางรายอาจจะมีอาการทางจิตเวชเกิดร่วมด้วย เช่น อาการซึมเศร้า และโรควิตกกังวล
ในเด็กผู้ชายจะพบโรคสมาธิสั้น มากกว่าเด็กผู้หญิง 4-6 เท่า ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรค ADHD แต่ ปัจจัยที่น่าจะกระตุ้นให้เกิดโรค คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น โรคลมชัก โรคขาดอาหาร เด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย ปัจจัยทางสังคมเช่นปัญหาการเลี้ยงดูที่ขาดการกระตุ้นพัฒนาการ สภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่เหมาะสม ปัญหาทางด้านจิตใจของพ่อแม่

การรักษา
       ก่อนอื่นต้องให้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้ปกครองที่เลี้ยงดู และจากทางโรงเรียน เพราะการใช้ยารักษาโรคสมาธิสั้นจะไม่ได้ผลในเด็กที่ไม่ได้ป่วยจริงนอกจากการใช้ยาร่วมด้วยแล้วทางด้านผู้ปกครองและครูควรมีส่วนช่วยในการรักษา ในการตระเตรียมสภาพแวดล้อมโดยมีหัวข้อหลักๆดังนี้

• จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่มีสิ่งรบกวนและสิ่งเร้าต่อเด็กมากเกินไป พยายามจัดบ้านให้มีระเบียบเช่นไม่มีของเล่นวางเกลื่อน ไม่มีบรรยากาศวุ่นวายสับสน เสียงตะโกนโหวกเหวกเปิดเสียงเพลงดัง จนเด็กไม่สามารถรวบรวมสมาธิได้เลย

• เสริมสร้างวินัยในตัวเด็ก เพราะจะเป็นตัวนำไปสู่การรู้จักควบคุมตนเอง เป็นการเสริมทางอ้อมให้รู้จักรวบรวมสมาธิได้แก่
กิจวัตรประจำวัน โดยการจัดตารางงานให้ทำเป็นเวลา สร้างระเบียบพื้นฐานในบ้านแบบกิจวัตรว่าใครจะช่วยจัดการอะไรบ้าง ใครถูพื้น ใครกวาดบ้าน ใครล้างจาน เป็นประจำ ตรงต่อเวลา ฝึกให้เด็กมีตารางเวลาในการทำงาน ว่าควรทำอะไร ในเวลาไหนจะเสร็จ เมื่อใด เป็นต้น การสร้างระเบียบต่างๆข้างต้น ควรเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีทางสำเร็จถ้าจะให้ทำได้ทุกอย่างในเวลาสั้นๆทันทีทันใด และที่สำคัญผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างในตอนเริ่มต้น และค่อยๆลดตนเองลงที่ละน้อย จนเด็กสามารถทำด้วยตนเองทั้งหมด

• การหากิจกรรมช่วยเสริมทักษะ เช่นการเรียนดนตรี การเรียนศิลปะ การอ่านหนังสือ กีฬา หลีกเลี่ยง เกมส์ กีฬา หรือกิจกรรมที่มีความรุนแรงเพราะจะกลับกลายไปกระตุ้นอาการสมาธิสั้น เป็นการทำให้ อาการแย่ลงไปอีก

• การฝึกสอนพ่อแม่ ต้องอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจว่า โรคเด็กซน-สมาธิสั้น นั้นเกิดจากการทำงานของสมองไม่ใช่ เกิดจากความตั้งใจก่อกวน ต้องจัดตารางเวลากิจกรรมของเด็ก พ่อแม่ต้องนั่งเป็นเพื่อนขณะเด็กทำงาน ต้องควบคุมอารมณ์ของพ่อแม่เอง อย่าลงโทษแบบรุนแรง ควรชมเมื่อเด็กทำดี และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก

• การแนะนำต่อครู คุณครูควรจัดที่นั่งเด็กแถวหน้า ถ้าเด็กหมดสมาธิก็ให้โอกาสไปเดินได้ ชมเชยเมื่อเด็กทำดี การสั่งการบ้านควรเขียนให้ชัดเจนให้เด็กทำงานทีละอย่าง อย่าตำหนิติเตียนเด็กอย่างรุนแรง พยายามเข้าใจและหาจุดดีของเด็ก สร้างความเข้าใจและอาจจำเป็นต้องสอนพิเศษ

• แนะนำที่ตัวเด็กเอง เด็กควรได้รับการสอนเป็นพิเศษ เมื่อเรียนไม่ทัน มีการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ถ้าหากเด็กมีอาการโรคจิตอื่นๆ ด้วยต้องได้รับการบำบัด เด็ก ADHD ที่ขาดทักษะทางสังคมต้องมีการฝึกฝนทางสังคม ให้เข้ากับผู้อื่นได้ การฟัง การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การแสดงออกที่เหมาะสมในโรงเรียน
          

          การรักษาด้วยยา ยารักษาอาการสมาธิสั้นเป็นกลุ่มยากระตุ้นสมอง จะทำให้เด็กนิ่งขึ้นในระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ ทำให้เด็กสามารถควบคุมตนเองได้นานขึ้นและส่งผลต่อการเรียนที่ดีขึ้น แต่อาจมีผลข้างเคียงเช่น เบื่ออาหารคลื่นไส้ นอนไม่หลับ หงุดหงิด หรือซึม ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และต้องมีการปรับพฤติกรรมควบคู่ไปด้วยเสมอ

พญ.ธรรมิกา เทพพาที
จิตแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา


ติดวัดเมืองใหม่ ริม ถ.พระยาสัจจา อ.เมือง จ.ชลบุรี

Tel 087-992-6993