บทความน่ารู้
- ความเครียด
- นอนไม่หลับ (Sleep problem)
- โรคซึมเศร้า
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4
- โรคจิต….คืออะไร
- การผ่อนคลายความเครียด
- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี
- โรคแพนิค
- ไมเกรน
- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง
- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น
- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ
-โรคย้ำคิดย้ำทำ |
โรคย้ำคิดย้ำทำ...โรคไม่อยากคิดไม่อยากทำแต่อดไม่ได้จริงๆ
โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) เป็นโรคในกลุ่มโรควิตกกังวล (Anxiety )ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการย้ำคิด หรือย้ำทำเป็นอาการเด่น
อาการย้ำคิดเป็นความคิดที่ผุดเข้ามาในสมองโดยไม่ตั้งใจและไม่ต้องการ และทำให้เกิดความกลัว หรือความกังวล
อาการย้ำทำ เป็นการกระทำซ้ำๆ เพื่อลดความกลัว หรือความกังวลที่เกิดจากอาการย้ำคิดนั้น ผู้ป่วยจะอดไม่ได้ที่จะต้องทำแม้ว่าจะดูไม่มีเหตุผลก็ตาม
อาการโรคย้ำคิดย้ำทำ
1. วิตกกังวลอย่างมากๆ เกี่ยวกับอาการย้ำคิดย้ำทำกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เขาไม่ปรารถนาที่จะคิดหรือต้องการจะทำโดยไม่มีเหตุผล ผู้ป่วยจะคิดตลอดเวลาเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น จนกระทั่งเสียงานเสียการ หรือไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ
2. ผู้ป่วยต้องการอยากหยุดความคิดและพฤติกรรมนั้น แต่ก็หยุดไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดีไม่เหมาะสม และไม่มีเหตุผลที่เป็นแบบนั้น
3. ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการทางกายก่อนที่จะมาพบกับจิตแพทย์ เช่น แผลถลอกที่มือ มือเปื่อย เหงือกอักเสบจากการแปรงฟันบ่อยๆ แต่ในรายที่มาพบจิตแพทย์โดยตรง มักมีอาการดังนี้ ตรวจเช็คกลอนประตูซ้ำแล้วซ้ำอีก ถามเรื่องเดิมซ้ำซาก ล้างมือ นับสิ่งของ การจัดวางของให้เป็นระเบียบซ้ำๆ ซึ่งทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก
โรคย้ำคิดย้ำทำใช่เป็นเจ้าระเบียบหรือไม่
"ไม่ใช่" ค่ะ คนเจ้าระเบียบรอบคอบ จะรู้ว่าควรเก็บอะไรตรงไหน เช็คความเรียบร้อย จนแน่ใจ แต่ไม่กระทบการดำเนินชีวิต และไม่ได้รู้สึกกังวลกับตัวเอง
แต่ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำแม้บางพฤติกรรมจะดูคล้ายคนมีระเบียบแต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ยกตัวอย่างเช่น
ในคนที่มีบุคลิกนิสัยเจ้าระเบียบ อาจชอบเก็บของเข้าที่ ไม่ชอบอะไรรกรุงรัง หรือทำความสะอาดบ้านวันละ 2-3 ครั้งก็พอใจแล้ว
แต่ในผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำ จะหมกมุ่นกับรายละเอียดเล็กน้อยๆจนไม่ได้ดูภาพรวมว่าเรียบร้อยหรือไม่ เช่น กลัวความสกปรกมากจนต้องล้างมือทุกครั้งที่หยิบจับอะไรมา แม้ว่าไม่ใช่สิ่งของที่เลอะเทอะเลย หรือ ล้างมือแล้วก็ล้างมืออีกเป็น 10 รอบๆ และก็ยังไม่มั่นใจว่าสะอาดพอพยายามไปตรวจสุขภาพเมื่อสัมผัสกับเชื้อโรค แม้ผลตรวจออกมาว่าปกติ ก็ไม่ไว้ใจ ไปตรวจซ้ำๆหลายที่หลายหมอก็ไม่สบายใจ แม้จะรู้ว่าผลปกติแต่ก็อดไม่ได้ที่จะไปพบหมออีก เป็นต้น
รูปแบบของอาการย้ำคิดย้ำทำที่พบบ่อย ๆ
• การเช็ค (checking) อาการก็คือจะเช็คอะไรซักอย่าง เช่น เช็คกลอนประตู เช็คดูว่าปิดก๊อกน้ำสนิท ปิดไฟแน่หรือยัง ต้องเดินดูไป ๆ มาหลาย ๆ รอบ
• การล้าง (Washing) พบมากสุดคือล้างมือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะย้ำคิดในเรื่องของความสะอาดหรือเชื้อโรค รู้สึกว่ามือไม่สะอาด จนต้องล้างซ้ำ ๆ หลายคนล้างมือวันละยี่สิบสามสิบรอบจนมือเปื่อยมีแผล ผู้ป่วยบางคนไม่ใช่แค่ล้างมือแต่อาบน้ำวันละสี่ห้ารอบ เสื้อผ้าถ้าถูกคนอื่นแตะจะต้องถอดแล้วเอาไปซักเลยก็มี
• การนับ (Counting) เวลาเจออะไรแล้วจะต้องนับ เช่นเจอกองปากกาวางบนโต๊ะ ก็ต้องค่อย ๆ นับ แล้วการนับต้องนับให้ครบด้วย บางคนต้องนับออกเสียงบางคนก็ต้องนับซ้ำไปมาหลาย ๆ รอบ
• ความสมดุล (Symmetry) ผู้ป่วยจะมีอาการคือทำอะไรก็ต้องให้ได้กึ่งกลาง สมดุล หรือเป็นระเบียบ เช่นผู้ป่วยคนหนึ่ง เวลาวางมือถือบนโต๊ะ ต้องวางให้พอดีกลางโต๊ะแป๊ะ เบี้ยวไปสักนิดไม่ได้จนต้องวางซ้ำไปซ้ำมาเล็งแล้วเล็งอีกว่าตรงรึยัง เวลาถอดรองเท้าแล้วต้องวางให้สองข้างเรียงขนานกันพอดีไม่เกินไม่เลย เป็นต้น
การรักษา
การรักษาที่ดีที่สุดต้องประกอบด้วยสองอย่างคือ
1. การรักษาด้วยยา โดยยาที่ใช้ก็คือยาต้านเศร้า (antidepressant) นั่นเอง ยาจะช่วยลดอาการ โดยกลไกกระตุ้นการทำงานของสารเคมีในสมองให้สมดุล ผลที่ได้รับคืออาการย้ำคิดย้ำทำจะลดลงตามไปด้วย แต่การรักษาต้องใช้เวลาสักระยะ อย่างน้อย 1 ปี ไม่ควรหยุดยาเร็วเกินไป เพราะอาจมีอาการกำเริบได้อีก
2. การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม (Behavioral therapy) หลักการก็คือการ ห้ามทำในสิ่งที่ย้ำทำ เช่น ล้างมือซ้ำ ๆ ก็ทำโดยห้ามล้างมือ แม้ว่าจะเปื้อนยังไงก็ห้ามล้าง เหมือนให้ฝืนไว้ แรก ๆ จะรู้สึกยากและทรมาน ในบางคนที่มีปมในใจตั้งแต่เล็ก การทำจิตบำบัดก็จะช่วยให้ผู้นั้นเข้าใจตนเองและยอมรับกับอาการได้
โดย
พญ. ธรรมิกา เทพพาที

|