เตรียมกายเตรียมใจพร้อมรับวัยทอง
“วัยทอง” เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ที่มีอายุระหว่าง 45 - 60 ปี เป็นช่วงเปลี่ยนจากวัยเจริญพันธุ์เข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นผลเนื่องจากรังไข่และ อัณฑะ ซึ่งเป็นอวัยวะในการสร้างฮอร์โมนเพศ สำหรับผู้หญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสไตรเจน ส่วนผู้ชาย ได้แก่ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
สำหรับผู้หญิง สังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงของรอบประจำเดือนที่ห่างขึ้นเรื่อยๆ และหยุดไป บางรายอาจเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนด้วยอายุน้อยกว่านั้น หากได้รับการตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง สำหรับผู้ชายอาการจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงจนบางคนอาจไม่รู้สึกตัว นอกจากจะตรวจเลือดเพื่อเช็คระดับฮอร์โมนในเลือด
จะทราบได้อย่างไรว่ากำลังเข้าสู่วัยทอง
สตรีวัยทองจึงมีช่วงของการเปลี่ยนแปลงแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
- วัยใกล้หมดประจำเดือน หมายถึง ช่วงเวลามีการเปลี่ยนแปลงของรอบประจำเดือน อาจมีระยะเวลานาน 2-8 ปี
- วัยหมดประจำเดือน หมายถึง ช่วงเวลาที่รอบประจำเดือนขาดหายไปครบ 1 ปี
- วัยหลังหมดประจำเดือน หมายถึง ช่วงเวลาหลังจากที่หมดประจำเดือนไปแล้ว 1 ปีขึ้นไป
สตรีที่ย่างเข้าสู่วัยทองควรหมั่นสังเกตและจดบันทึกรอบประจำเดือนของท่านว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติหรือไม่ อย่างไร และท่านควรปรึกษาแพทย์เมื่อพบว่าลักษณะเลือดที่ออกมีความผิดปกติดังต่อไปนี้
- ปริมาณมากผิดปกติ และมีก้อนเลือด ลิ่มเลือดปน
- เลือดออกนานกว่าปกติ คือ นานกว่า 7 วัน
- ประจำเดือนมาบ่อย โดยมีระยะห่างไม่ถึง 21 วันหรือ 3 สัปดาห์
- มีเลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกผิดปกติที่ไม่ตรงกับรอบประจำเดือน
การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในวัยทอง
- สมองและระบบประสาท ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน นอนไม่หลับ ใจสั่น ความจำเสื่อม ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดบ่อย ซึมเศร้า จิตใจห่อเหี่ยว เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา (ซึ่งอาจทำให้สับสนกับอาการของโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล)
- หัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ไขมันในเลือดสูง
- กระดูก ทำให้กระดูกบาง กระดูกพรุน กระดูกหักง่าย
- กล้ามเนื้อและข้อ มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดข้อนิ้วมือ
- ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ มีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีปัสสาวะเล็ดเวลาไอหรือจาม กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย ช่องคลอดแห้ง แสบร้อน เจ็บขณะร่วมเพศ ช่องคลอดอักเสบ ผนังช่องคลอดและมดลูกหย่อน รวมถึงความต้องการทางเพศลดลง
ผิวหนัง เหี่ยวย่น แห้งคัน ชอกช้ำ เกิดแผลได้ง่าย ผมแห้ง ผมบาง ริมฝีปากแห้ง
การดูแลสุขภาพในช่วงวัยทอง
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ควรเริ่มต้นด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียว ผลไม้ ปลา นมพร่องมันเนย ถั่วเมล็ดแห้ง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์แล้ว สตรีวัยทองควรมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาทางสุขภาพ ตรวจคัดกรองมะเร็ง รวมทั้งรับการรักษาโรคหรือภาวะบางอย่างที่อาจเกิดขึ้น
- เตรียมตัวเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้
ร่างกาย - จะมีแรงมีพลังลดลง ไม่สวย ไม่หล่อ เหมือนเดิม
จิตใจ - จะมีความจำลดลง หลงลืมง่าย
อารมณ์ - จะหวาดวิตก ซึมเศร้า เหงา หงุดหงิดได้ง่าย
สังคม - คนจะสนใจเราน้อยลง ลูกหลานอาจจะมีภารกิจ หรือแยกครอบครัวไป ทำให้มีเวลาใกล้ชิดเราน้อยลง
- ทำตัวทำใจให้สนุกสนานร่าเริงเป็นประจำ อย่าใส่กรอบตัวเองว่า "แก่แล้ว " จงเปิดใจให้กว้าง สิ่งใดอยากทำแล้วลองฝืนใจทำเล่นๆ ดูบ้างก็ได้ จะได้รับความตื่นเต้นในชีวิตบ้าง
- ยึดหลักความเรียบง่าย / ยืดหยุ่นให้มากขึ้น ลดเงื่อนไขและข้อต่อรองลงบ้าง กินง่าย อยู่ง่าย นอนง่าย ลดความอิจฉาคนที่เด็กกว่า เด่นกว่า ลดความขวางหูขวางตาเมื่อเขาทำอะไรไม่ถูกใจเราลง รู้จักการแพ้เป็น ชนะเป็น อดทนได้ รอคอยได้ เอาใหม่ได้ มองโลกในแง่ดี อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดีให้มากขึ้น
- สนุกสนานกับงานอดิเรก ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ออกกำลังกาย ฟังเพลง เดินทางท่องเที่ยว พบปะผู้คนอื่นๆ อ่านหนังสือ ดูหนัง ดูละคร กินข้าวนอกบ้านกับลูกหลาน
อย่าลืมนะคะ แม้ว่าคุณจะอยู่ในช่วงชีวิตวัยใดก็ตาม จงรัก ศรัทธาตัวเองให้มาก พร้อมทั้งรักและศรัทธาคนอื่นให้มากขึ้นด้วยค่ะ
โดย
พญ. ธรรมิกา เทพพาที

|