Home
| about us | เวชสำอางค์ | บทความ-สาระน่ารู้ |ติดต่อสอบถาม | แผนที่

บทความน่ารู้

- ความเครียด

- นอนไม่หลับ (Sleep problem)

- โรคซึมเศร้า

          ตอนที่ 1

          ตอนที่ 2

          ตอนที่ 3

          ตอนที่ 4

- โรคจิต….คืออะไร

- การผ่อนคลายความเครียด

- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี

- โรคแพนิค

- ไมเกรน

- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง

- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น

- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ

-โรคย้ำคิดย้ำทำ

- วิธีจัดการอารมณ์ความโกรธ

-เด็กติดเกม

 

เด็กติดเกมส์เด็กติดเกม…ป้องกันได้ด้วยรักจากครอบครัว

         ปัจจุบันทุกบ้านต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท คอมพิวเตอร์ แทบจะทุกบ้าน ทั้งตั้งโต๊ะ และพกพา ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน และถ้ามีเด็กๆในบ้านด้วยแล้ว ก็จะง่ายต่อการใช้งานและยังง่ายต่อการเข้าถึงปัญหาการติดเกมด้วย
การเล่นเกมเป็นกิจกรรมที่เด็กนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ เช่น ตู้เกมหยอดเหรียญ วิดีโอเกม และเกมคอมพิวเตอร์ทั้งแบบออนไลน์และไม่ออนไลน์ เป็นต้น เป็นกิจกรรมอดิเรกของเด็กที่มาแทนการออกกำลังกาย การทำงานศิลปะ การเล่นดนตรี ซึ่งจะทำให้เด็กเข้าสังคมน้อยลงและหมกมุ่นกับตัวเองมากขึ้น
สถานการณ์ปัญหาของเด็กติดเกมในปัจจุบัน
เด็กผู้ชายนิยมเล่นเกมและใช้เวลาเล่นเกมมากกว่าเด็กผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมีความถนัดทางด้านมิติสัมพันธ์และการประสานงานระหว่างตาและมือดีกว่าผู้หญิง และเกมส่วนใหญ่ถูกสร้างให้เหมาะสมกับเพศชาย เช่น การแข่งกีฬา  การผจญภัย และการต่อสู้ เป็นต้น  แต่ปัจจุบันก็มีการผลิตเกมที่สามารถเล่นได้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง เช่น เกมการวางแผน เกมสร้างเมือง เกมเต้น ซึ่งคาดว่าต่อไปทั้งเด็กชายและเด็กหญิงก็มีโอกาสติดเกมได้เท่าๆกัน
เด็กที่เล่นเกมส่วนหนึ่งหมกมุ่นกับการเล่นเกมมากจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่ามีปัญหาติดเกม จนเป็นปัญหาสำคัญของครอบครัวส่วนใหญ่ ปัญหาของเกือบทุกโรงเรียน และกลายเป็นปัญหาระดับประเทศในปัจจุบันไปแล้ว
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เด็กที่ติดเกมจะไม่ค่อยสนใจการเรียน ทำให้การเรียนแย่ลง การขาดเรียนบ่อยขึ้น สังคมกับเพื่อนฝูงจะน้อยลง เพราะจะสนใจแต่เพื่อนที่เล่นเกมด้วยกัน หรือบางคนอาจไม่มีเพื่อนเลย  แม้แต่การเข้าหาครอบครัวก็น้อยลงไปด้วย  ทำให้มีช่องว่างระหว่างพ่อแม่ลูกมากขึ้น พี่น้องก็ไม่สนิทกัน และพฤติกรรมของเด็กติดก็จะเปลี่ยนไปในทางแย่ลง เช่นก้าวร้าว ลักขโมยเงินไปเล่นเกมหรือซื้อเกม ไม่ดูแลตนเอง เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคเด็กติดเกมมีหรือไม่
ปัญหาเด็กติดเกมคอมพิวเตอร์ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จึงยังไม่มีเกณฑ์วินิจฉัยมาตรฐาน แต่สามารถอาศัยเกณฑ์ของผู้ป่วยติดสารเสพติด และผู้ป่วยติดการพนัน มาใช้ได้ มีดังนี้ คือ

  • มีความรู้สึกเพลิดเพลินใจในเวลาที่ได้เล่นเกม พึงพอใจเมื่อได้รับชัยชนะในการเล่นเกม ต้องการเอาชนะเพิ่มขึ้นอีกจึงรู้สึกพึงพอใจเท่าเดิม
  • มักใช้เวลาเล่นเกมนานจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วก็จะมีความต้องการเล่นในระดับที่สูงขึ้นไปอีก มีความต้องการใช้เวลาในการเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ
  • รู้สึกหงุดหงิดกระวนกระวายหรือมีอาการทางกายจากความเครียดเมื่อถูกขัดขวางการเล่นเกม มีความต้องการเล่นเกมมากขึ้นในเวลาที่รู้สึกเครียดและเล่นเกมเพื่อหลบเลี่ยงการเผชิญปัญหา
  • มีผลกระทบต่อตนเองหลายด้าน เช่น การเรียน การทำงาน สุขภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัว และสังคม เป็นต้น
  • มีพฤติกรรมการเล่นเกมที่ไม่สามารถควบคุมได้ มักใช้เวลาเล่นเกมมากกว่าที่ตั้งใจไว้ มีความพยายามจะลดหรือเลิกเล่นเกมแต่ไม่สามารถควบคุมตนเองให้หยุดเล่นได้
  • มีปัญหาพฤติกรรมหลายอย่างตามมา เช่น โกหก ขโมย ก้าวร้าว หนีเรียน หนีออกจากบ้าน และการพนัน ไม่ยอมนอน เคยมีรายงานข่าววัยรุ่นหมกมุ่นเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากและอดนอนจนมีอาการโรคจิต และบางคนฆ่าตัวตายเลียนแบบเนื้อหาในเกมที่เล่น

โรคทางจิตเวชที่มักพบร่วมด้วย
ภาวะ เช่น อารมณ์ซึมเศร้า พฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว หนีเรียน หนีออกจากบ้าน เป็นต้น โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคอันธพาล (Conduct disorder)  และโรคซึมเศร้า (Depression) เป็นต้น
เด็กบางคนใช้การเล่นเกมเป็นทางหลบเลี่ยงปัญหาทางจิตใจ เมื่อใช้วิธีนี้นานๆกลายเป็นบุคลิกภาพแบบหลบเลี่ยง(Avoidant personality)
การป้องกัน....สำคัญยิ่งกว่าการรักษา
หากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆยังเล่นเกมไม่เป็นหรือวางแผนจะซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูก คุณยังสามารถป้องกันการติดเกมได้โดยเริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่เกิดปัญหา โดยการกำหนดกฎกติกาก่อนซื้อคอมพิวเตอร์และการเข้าถึงเกม  ให้เด็กเรียนรู้การเล่นเกมอย่างถูกต้อง มีกติกา และพ่อแม่จะเอาจริงตามที่ตกลงกัน เช่น พ่อแม่ควรศึกษาเรื่องเกมก่อนให้ลูกเล่น  แยกแยะประเภทของเกม เลือกใช้เกมที่เป็นประโยชน์แก่ลูกได้  ให้ความรู้สอดแทรกให้ลูกเข้าใจและยอมรับได้ว่าการเล่นเกมที่ดีควรเลือกเกมอะไร เกมใดที่ไม่ส่งเสริมให้เล่น เนื่องจากเหตุผลใด  และจัดเวลาการเล่นเกมตั้งแต่ต้น ไม่ควรกำหนดตามหลังปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะจะยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการเล่นเกมในภายหลัง การกำหนดเวลาควรให้ชัดเจน เช่น เวลา 18.00-19.00น. ( หลังจากทำการบ้านเสร็จ และช่วยเหลืองานบ้าน ทานอาหารเย็นเรียบร้อยแล้ว )  ตำแหน่งที่วางคอมพิวเตอร์ควรอยู่ในสายตาพ่อแม่  มีการปิดกั้นการเข้าถึงเกมที่อันตราย  ถ้าลูกละเมิดกฎก็ความมีการลงโทษตามที่ตกลงเช่น งดการเล่นเกม 3 วัน หรือ  ทำงานบ้านอื่นชดเชยความผิด เป็นต้น 
การรักษาเด็กติดเกม  อย่าแก้ไขที่เด็กเพียงคนเดียว
ต้องยอมรับว่าการรักษาเด็กติดเกมนั้นค่อนข้างยากมาก เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาทั้งครอบครัว และ มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ เช่น ร้านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น และพฤติกรรมของเด็กติดเกมนั้นก็คล้ายกับคนที่ติดสารเสพติดมาก  ดังนั้นจึงต้องหันกลับมาที่จุดเริ่มต้นของครอบครัวก่อนคือ

  • การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครอบครัว  ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวไม่มีเวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ พ่อแม่ทำงาน ให้ลูกอยู่บ้านตามลำพังหรืออยู่กับผู้สูงอายุ ซึ่งมีความห่างระหว่างวัยอาจสื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจ หรือแม้แต่มีเวลาอยู่ด้วยกัน แต่อยู่กันคนละมุมบ้านก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความใกล้ชิดกัน ควรหาเวลาที่ครอบครัวทั้งหมดอยู่ร่วมกันและสร้างกิจกรรมที่ทุกคนทำแล้วมีความสุข เช่น ดูหนังด้วยกัน  เล่นกีฬาด้วยกัน ไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกัน หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ควรมีเวลาที่จะอยู่กัยลูกเพื่อคุยปรับทุกข์ ให้คำแนะนำต่างๆ ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร 
  • การทำให้เด็กยอมรับว่ามีปัญหาติดเกมแล้วสร้างแรงจูงใจที่อยากจะเลิก   ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่ลูกยังไม่ทราบเพิ่มเติม  จูงใจให้ลูกมองเห็นความสามารถของตนเองด้านอื่นที่ไม่ใช่การเล่นเกมเก่ง   ควรให้ความรู้เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์อย่างเหมาะสมแก่ลูก และเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริโภคสื่อและเทคโนโลยีต่างๆด้วย  เมื่อลูกยอมรับว่าตอนมีปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากการเล่นเกม การชักนำให้เปลี่ยนแปลงก็จะง่ายขึ้น โดยที่ไม่ต้องพึ่งมือหมอเลยค่ะ
  • การตั้งเป้าหมายในการลดการเล่นเกมร่วมกัน   เริ่มจากการทำความตกลงกันใหม่ในเรื่องเวลาการเล่นเกม ช่วยกันกำหนดเวลา ไม่ให้มากเหมือนเดิม ในช่วงแรกอาจมีการประนีประนอมลดเวลาลงก่อน แล้วค่อยๆลดลงให้มากขึ้นจนถึงจุดที่เหมาะสม จัดเวลาที่ไม่ได้เล่นเกมเป็นกิจกรรมอื่นที่สนุกสนานและเบี่ยงเบนความสนใจเด็กได้เช่นกัน เช่น กีฬา กิจกรรมครอบครัว งานอดิเรกเป็นต้น
  • การฝึกวินัย...เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับเด็กในทุกเรื่อง   พ่อแม่ควรมีวินัยในตัวเองด้วยและฝึกวินัยลูกอย่างเหมาะสม ด้วยการตั้งกฎเกณฑ์ที่ลูกมีส่วนร่วมกำหนดและยอมรับด้วยเหตุผลอย่างชัดเจน พ่อแม่ต้องสามารถติดตามพฤติกรรมให้เป็นไปตามข้อตกลง ให้รางวัล เช่น คำชมเชย ของขวัญ สิทธิพิเศษ เป็นต้น เมื่อลูกสามารถทำตามข้อตกลงได้ และมีการลงโทษตามข้อตกลงหากลูกไม่สามารถทำตามข้อตกลงอย่างจริงจัง นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่าง สนับสนุน และจูงใจให้วัยรุ่นทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์หรือกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ เป็นต้น และสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมที่ช่วยให้ค้นพบความสามารถของตนเองและพัฒนาความนับถือตนเอง

จะเห็นได้ว่าการดูแลรักษาเด็กที่ติดเกมนั้น เริ่มต้นที่ความรักความเอาใจใส่ในครอบครัว และถ้าผ่านปัญหานี้ไปได้ เด็กก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัย เป็นคนคุณภาพของสังคมต่อไปค่ะ

ติดวัดเมืองใหม่ ริม ถ.พระยาสัจจา อ.เมือง จ.ชลบุรี

Tel 087-992-6993