Home
| about us | เวชสำอางค์ | บทความ-สาระน่ารู้ |ติดต่อสอบถาม | แผนที่


 

เด็กออทิสติก...คืออะไร

         โดย พญ.ธรรมิกา  เทพพาที



เด็กออทิสติก (Autistic Disorder) หรือ ออทิสซึม(Autism) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะสังคม ภาษา และการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีพฤติกรรม เป็นแบบแผนซ้ำๆ แสดงให้เห็นก่อนอายุ 3 ขวบ


โรคออทิสติกจัดอยู่ในกลุ่มการวินิจฉัยโรค ที่เรียกว่า พีดีดี หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (Pervasive Developmental Disorders; PDDs) ก พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพันธุกรรมสูงมาก


เด็กที่เป็นออทิสติกจะมีอาการแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ เช่น อยู่ในโลกของตัวเองมาก สนใจสิ่งแวดล้อมน้อย เรียกไม่หัน ไม่สบตา ไม่สนใจใคร โต้ตอบไม่เป็น เล่นไม่เหมาะสม จินตนาการไม่เป็น ไม่พูดหรือพูดไม่รู้เรื่อง พูดเป็นภาษาต่างดาว ทำอะไรซ้ำๆ เป็นแบบแผน กระตุ้นตัวเองเป็นระยะ เช่น หมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า สะบัดมือ เล่นมือ เล่นเสียง เป็นต้น
ในช่วงขวบปีแรกจะสังเกตได้ยาก เนื่องจากไม่มีลักษณะภายนอกผิดสังเกต เด็กมักจะไม่สบตา เรียกชื่อก็ไม่สนใจหันมอง ไม่ชอบให้อุ้ม ไม่แสดงท่าทีเรียกร้องความสนใจใดๆ


ในช่วงขวบปีที่สอง เด็กยังไม่พูดเป็นคำ แต่จะพูดเป็นภาษาต่างดาวที่ไม่มีความหมาย ไม่สนใจของเล่น เวลาอยากได้อะไรมักจะทำเอง หรือจูงมือพ่อแม่ไปหยิบโดยไม่ส่งเสียง ชอบของหมุนๆ เช่น พัดลม ล้อรถที่กำลังหมุน เริ่มเล่นมือ สะบัดมือ หมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า


ขวบปีที่สามเป็นต้นไป อาการจะชัดเจนขึ้น และรุนแรงมากขึ้น ถ้าไม่ได้นำเข้าสู่กระบวนการดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เด็กจะไม่สบตา เล่นกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกันไม่เป็น จินตนาการไม่เป็น ไม่รู้จักแยกแยะหรือหลีกหนีจากอันตราย พูดเลียนแบบโดยไม่เข้าใจความหมาย ยังมีภาษาต่างดาวอยู่มาก มีท่าทางแปลกๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว กระโดดสะบัดมือเวลาดีใจหรือตื่นเต้น เดินเขย่งหรือซอยเท้า สนใจของบางอย่างแบบหมกมุ่นเกินความพอดี ทานอาหารเมนูซ้ำเดิมไม่ยอมเปลี่ยน อารมณ์เสีย หงุดหงิด โวยวาย

วินิจฉัยออทิสติกอย่างไร


“โรคออทิสติก” อยู่ในกลุ่ม “พีดีดี” (Pervasive Developmental Disorders; PDDs) หรือ “ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน” ซึ่งแนะนำให้พาเด็กไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ถูกต้องต่อไป
เด็กออทิสติกโตขึ้นจะเป็นอย่างไร
พบว่าออทิสติก จำนวน 2 ใน 3 ยังมีภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่น และต้องการผู้ดูแลตลอดชีวิต ในขณะที่จำนวน 1 ใน 3 สามารถพึ่งพาตนเองได้พอสมควร ต้องการเพียงคำชี้แนะจากผู้ดูแลเป็นระยะเท่านั้น และพบว่ามีร้อยละ 1-2 ที่พึ่งพาตนเองได้เต็มที่ สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเอง ดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ สิ่งสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกว่าแนวโน้มที่ดีหรือไม่ คือ ระดับสติปัญญา
ป้องกันไม่ให้เป็นออทิสติกได้อย่างไร
ในปัจจุบันยังไม่ให้สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ และยังไม่มีวิธีการที่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ แต่สามารถป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงขึ้นได้ โดยการคัดกรองให้รู้ปัญหาเร็วที่สุด ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป ควรนึกถึงออทิสติก และมีการดำเนินการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และให้ความช่วยเหลืออย่างทันที อาการดังกล่าว คือ
1. เล่นสมมติ เล่นจินตนาการไม่เป็น
2. ไม่สามารถชี้นิ้วบอกความต้องการได้
3. ไม่สนใจเข้ากลุ่ม หรือเล่นกับเด็กคนอื่น
4. ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสนใจร่วมกับคนอื่นได้

แนวทางดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติก

1) ส่งเสริมพลังครอบครัว การดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติก ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ควรเริ่มต้นลงมือฝึกเด็กก่อนแล้วค่อยๆ พัฒนาวิธีการตามคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญ

2) ส่งเสริมความสามารถเด็ก จะช่วยให้มีกำลังใจ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำบ่อยๆ แล้วสอนเพิ่มในเรื่องที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เด็กทำได้ เช่น ดนตรี กีฬา งานศิลปะต่างๆ

3) ส่งเสริมพัฒนาการ และ ปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คือการจัดกิจกรรมเพื่อใช้ในการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเป็นไปตามวัย โดยยึดหลักและลำดับขั้นพัฒนาการของเด็กปกติ ควรทำตั้งแต่อายุน้อย โดยต้องทำอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง

4) การแก้ไขการพูด ถ้าเด็กพูดได้เร็ว โอกาสที่จะมีพัฒนาการทางภาษาใกล้เคียงปกติก็จะเพิ่มมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญที่แก้ไขการพูด คือ “นักแก้ไขการพูด” (Speech Therapist) แต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือผู้ปกครองซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก

5) การฟื้นฟูการศึกษา การจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล จำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสมกับความสามารถ ความบกพร่อง และความสนใจของเด็กแต่ละคน ปัจจุบันมีทางเลือกในการศึกษาเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะทาง โรงเรียนเรียนร่วม ห้องเรียนคู่ขนาน ห้องเรียนปกติ รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย

6) การฟื้นฟูทางสังคม และทางอาชีพ บุคคลออทิสติกสามารถประกอบอาชีพได้ปกติ ตามความถนัดของแต่ละคน ถ้ามีการเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม และสังคมมีความเข้าใจ เปิดโอกาสให้

7) การรักษาด้วยยา นำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการบางอย่างที่เกิดร่วม เด็กไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาทุกคน และเมื่อทานยาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทานต่อเนื่องไปตลอดชีวิตเช่นกัน แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยา หรือหยุดยา เมื่ออาการเป้าหมายทุเลาลงแล้ว

เมื่อลูกเป็นเด็กออทิสติก พ่อแม่ควรทำอย่างไร

• เปลี่ยนทัศนคติและความคิด โดยคิดในทางที่ดีว่า “ลูกต้องพัฒนาได้”
• ยอมรับในความเป็น “ลูก” และ “สิ่งที่ลูกเป็น” ถ้าเราไม่รัก และเข้าใจลูกของเรา แล้วใครจะรักและเข้าใจ
• บอกกับตนเองว่า “หยุดไม่ได้” ต้องพัฒนาลูกให้ช่วยตนเองให้ได้มากที่สุด
• ตั้งสติ ไม่ท้อแท้ ตั้งใจให้แน่วแน่ว่าลูกต้องพัฒนาดีขึ้นได้
• ไม่กล่าวโทษตนเองหรือคู่สมรสว่า เป็นสาเหตุทำให้ลูกมีปัญหา ลูกเป็นเด็กออทิสติก ไม่ใช่ความผิดของใครควรหันหน้า ปรึกษากันในครอบครัว ถึงวิธีการดูแล เลี้ยงดู ฝึกอบรมลูก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต

ติดวัดเมืองใหม่ ริม ถ.พระยาสัจจา อ.เมือง จ.ชลบุรี

Tel 087-992-6993