Home
| about us | เวชสำอางค์ | บทความ-สาระน่ารู้ |ติดต่อสอบถาม | แผนที่

บทความน่ารู้

- ความเครียด

- นอนไม่หลับ (Sleep problem)

- โรคซึมเศร้า

          ตอนที่ 1

          ตอนที่ 2

          ตอนที่ 3

          ตอนที่ 4

- โรคจิต….คืออะไร

- การผ่อนคลายความเครียด

- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี

- โรคแพนิค

- ไมเกรน

- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง

- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น

- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ

-โรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคซึมเศร้า  พายุดีเพรสชั่น  โรคที่พัดพาความทุกข์มาสู่ชีวิต
พญ. ธรรมิกา  เทพพาที, จิตแพทย์

ตลอดชีวิตของคนเราย่อมเจอประสบการณ์ผิดหวัง เสียใจ เศร้าโศกกันทุกคน แต่จะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้โดยใช้เวลาไม่นาน ถ้าได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง หรือการให้กำลังใจตนเอง แต่ถ้าเมื่อใดที่อารมณ์เศร้าคงอยู่ยาวนานเกือบตลอดเวลาไม่หายไป และลุกลามไปยังสุขภาพร่างกายของคุณให้มีอาการต่างๆ ที่หาสาเหตุไม่พบ ให้คุณระมัดระวังโรคซึมเศร้าให้ดี เพราะมันอาจเป็นเหมือนพายุที่กำลังพัดพาความทุกข์มาสู่ชีวิตของคุณและคนที่คุณรัก
โรคซึมเศร้า คนทั่วไปเรียกว่า DEPRESSION เหมือนชื่อของพายุดีเพรสชั่น แต่ในทางการแพทย์ โรคซึมเศร้าได้แตกแยกย่อยออกเป็นชนิดต่างๆอีกหลายอย่าง ดังนี้

  • ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากการปรับตัว (Adjustment disorder with depress mood) ภาวะนี้ยังไม่รุนแรงถึงขนาดเป็นโรคซึมเศร้า เพียงแต่มีอาการของโรคซึมเศร้าเป็นบางวันที่สัมพันธ์กับความเครียดในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนที่ผ่านมา เช่น อกหัก ออกจากงาน ผิดหวังเสียใจเรื่องต่างๆ แต่เมื่อตัวก่อความเครียดหายไปอาการเศร้าจะกลับมาเป็นปกติ
  • โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major depressive disorder) เป็นชนิดที่รุนแรงที่สุดโรคซึมเศร้า มีอาการเศร้าต่อเนื่องทั้งวันทุกวันยาวนานเกิน 2 สัปดาห์ รบกวนชีวิตประจำวัน คุณจะไม่สามารถทำงานได้ เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่อยากออกไปไหนเลย และมีอาการมากมาย เช่น นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ไม่มีสมาธิ คิดแต่ในแง่ลบ รู้สึกตัวเองไร้ค่า คิดอยากทำร้ายตัวเอง ในบางคนอาจมีอาการหลอน หูแว่ว หรือหวาดระแวงร่วมด้วยได้
  • โรคซึมเศร้าชนิดไม่รุนแรงแต่ยาวนาน (Dysthymia) คุณจะมีอาการเศร้าไม่มาก แต่ยาวนานเป็นปีๆ พอทำงานได้ แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ อาการแสดงทางร่างกายก็มีแต่ไม่มากเท่าชนิดรุนแรง
  • โรคอารมณ์แปรปรวนชนิดซึมเศร้า (Bipolar depression) โรคนี้จะแปลกหน่อย ตรงที่ บางช่วงมีอาการซึมเศร้าชัดเจน แล้วก็สลับกับอาการที่เรียกว่า Mania หมายถึงช่วงอารมณ์พุ่งปรี๊ด ในทางตรงกันข้ามกับซึมเศร้า เช่น หัวเราะอารมณ์ดีมากเกินปกติ อยากทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกัน ชอบชอปปิ้งกระจาย อยากคุยโทรศัพท์ทั้งวัน ไม่อยากหลับนอน มีความต้องการทางเพศสูง จึงทำให้บางช่วงที่ป่วยดูไม่เหมือนคนเป็นโรคซึมเศร้า
  • โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) พบในหญิงหลังคลอดไม่เกิน 1 เดือน มีอาการซึมเศร้า ไม่อยากเลี้ยงลูก คิดทำร้ายลูกและทำร้ายตนเอง ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของฮอร์โมนหลังคลอด แต่สามารถหายได้เร็วเมื่อรักษา
  • โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal depression) เป็นโรคซึมเศร้าที่พบในต่างประเทศมากกว่า เนื่องจากอากาศเมืองนอกจะหนาว ทำให้ชั่วโมงกลางวันน้อยกว่ากลางคืน สามารถกระตุ้นอาการซึมเศร้าได้

โดยรวมแล้วอาการของโรคซึมเศร้าจะแสดงออกมาเป็นอาการคล้ายกัน แบ่งเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆได้ 4 อาการหลัก คือ

  • อารมณ์ซึมเศร้า  หดหู่ ร้องไห้บ่อย จิตใจหม่นหมอง  เบื่อหน่าย กิจกรรมเดิมที่เคยทำแล้วเพลินใจก็ไม่อยากทำ บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย
  • คิดแต่ในแง่ร้าย มองอดีตก็แสนเลวร้าย มองปัจจุบันก็มีแต่อุปสรรค มงอนาคตก็มืดมน  ต่อมาเริ่มคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือคิดฆ่าตัวตาย (ทั้งๆที่บุคลิกภาพเดิมไม่ได้คิดแง่ลบแบบนี้)
  • ร่างกายอ่อนแอ  อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง หลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก บางคนก็กินมากกว่าเดิม สมาธิความจำแย่ลง จะหลงลืมง่าย โดยที่ไปตรวจสุขภาพก็ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ
  • งานก็ไม่รุ่ง รักก็ไม่รอด  ความรับผิดชอบต่อการงานก็ลดลง จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ มักมีเรื่องทะเลาะกับคนรอบข้างบ่อยขึ้นเนื่องจากอารมณ์ไม่คงที่

โรคซึมเศร้าพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่อาการแสดงออกจะต่างกันไปบ้าง วัยที่พบส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน อาการจะค่อนข้างตรงไปตรงมา และพบในผู้หญิงมากกว่า ซึ่งน่าจะมีผลมาจากฮอร์โมนเพศหญิงด้วย  ส่วนผู้ชายอาจจะออกแนว บู๊หน่อย คือ ฉุนเฉียว ดื่มเหล้าสูบบุหรี่หนักขึ้น ถ้าเป็นคุณหนูๆ วัยเด็ก  ก็จะมีอาการเศร้าปนกับไม่อยากไปโรงเรียน งอแง ติดพ่อแม่ พัฒนาการถดถอยกว่าเดิม ปัสสาวะรดที่นอน ดูดนิ้ว กัดเล็บ ถ้าเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวก็จะออกแนว ติดเที่ยวหนัก เสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติดและมั่วสุมทางเพศ ขับรถเร็วไม่ระวังอันตราย  ถ้ารุ่นคุณตาคุณยายที่เป็นซึมเศร้า ก็จะไม่ค่อยรู้ตัวว่าเศร้า แต่จะบ่นอาการทางกายมาก เช่น อ่อนเพลีย กินไม่ลง นอนไม่หลับ ใจหวิวๆ ปวดมวนท้อง อาการไม่ค่อยชัดเจน
โรคซึมเศร้าสามารถพบได้ตลอดช่วงอายุและชีวิต ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามตัวคุณและคนที่คุณรัก ถ้าพบอาการซึมเศร้าที่ต่อเนื่องยาวนาน หรือ อาการที่ผิดสังเกตไปจากปกติ  คุณสามารถประเมินตนเองเบื้องต้นก่อนโดยทำแบบประเมินอาการซึมเศร้า หรือปรึกษาจิตแพทย์ใกล้บ้านท่านเพื่อการวินิจฉัยและหาทางรักษาต่อไปค่ะ

 

 


ติดวัดเมืองใหม่ ริม ถ.พระยาสัจจา อ.เมือง จ.ชลบุรี

Tel 087-992-6993