Home
| about us | เวชสำอางค์ | บทความ-สาระน่ารู้ |ติดต่อสอบถาม | แผนที่

บทความน่ารู้

- ความเครียด

- นอนไม่หลับ (Sleep problem)

- โรคซึมเศร้า

          ตอนที่ 1

          ตอนที่ 2

          ตอนที่ 3

          ตอนที่ 4

- โรคจิต….คืออะไร

- การผ่อนคลายความเครียด

- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี

- โรคแพนิค

- ไมเกรน

- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง

- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น

- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ

-โรคย้ำคิดย้ำทำ

ยามหัศจรรย์   รักษาโรคซึมเศร้าหายได้
พญ. ธรรมิกา  เทพพาที, จิตแพทย์


มีคำถามที่คนมักจะถามจิตแพทย์อยู่เสมอๆว่าเมื่อจะได้รับยาว่า ทานยาต้านเศร้าแล้ว หายได้จริงเหรอ จะติดยาไหม จะเป็นอันตรายต่อตับไตหรือไม่ ต้องทานนานเท่าไหร่ ทานแล้วเป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์หรือไม่ ฯลฯ  
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า หรือ ยาต้านเศร้า หรือ ยายิ้มหวาน แล้วแต่จะเรียกให้เข้าใจง่าย กลไกคือปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ขาดตกบกพร่องไปในโรคซึมเศร้าที่ต้นเหตุให้กลับมาสมดุลอย่างเดิม ซึ่งจะส่งผลถึงปลายเหตุคือ อาการต่างๆของโรคซึมเศร้าดีขึ้นตามลำดับ มีการจัดกลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้าดังนี้

  • SSRI (selective serotonin reuptake inhibitor) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เพิ่มสารเคมีชื่อ ซีโรโตนิน โดยเฉพาะ เป็นยากลุ่มแรกที่จิตแพทย์เลือกใช้ในการรักษา เนื่องจากปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงและราคาพอสมควร ชื่อสามัญที่มีจำหน่ายในไทยปัจจุบันคือ Fluoxetine,Sertraline,Paroxetine,Escitalopram,Fluvoxamine
  • ยาที่ออกฤทธิ์ใกล้เคียงกับ SSRI คือนอกจากซีโรโตนิน แล้วยังกระตุ้นการหลั่งของสารเคมีตัวอื่นด้วย เช่น นอร์อะดรีนาลีน  โดปามีน ฮิสตามีน เป็นต้น จะใช้เป็นตัวเลือกรองลงมาจากกลุ่มแรก  มีชื่อสามัญดังนี้
  • SNRI (Serotonin–norepinephrine reuptake inhibitor) ชื่อสามัญคือ Venlafaxine , Desvenlafacine , Duloxetixe
  • NaSSAs (Noradrenergic and specific serotonergic antidepressant) ชื่อสามัญ คือ Mirtazapine
  • NDRI(Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor) ชื่อสามัญ คือ Bupoprion
  • ยาต้านซึมเศร้ากลุ่มดั้งเดิม TCAs (Tricyclic antidepressants) กระตุ้นการหลั่งของสารเคมีหลายชนิดในสมองแบบไม่จำเพาะเจาะจง ซึ่งผลที่ตามมาคือ อาการข้างเคียงจะเพิ่มมากขึ้น ในบางคนก็ตอบสนองได้ดีกับยากลุ่มนี้และราคาที่ถูก ชื่อสามัญที่มีจำหน่ายในไทย คือ Amitriptyline, Nortriptyline, Imipramine , Clomipramine เป็นต้น

ผลข้างเคียงของยารักษาโรคซึมเศร้าโดยรวม คือ เบื่ออาหารหรือเจริญอาหาร นอนไม่หลับหรือง่วงนอนมาก ปากแห้ง ท้องผูก ตาพร่า เวียนหัว ความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น ทั้งนี้ความแตกต่างของผลข้างเคียงยาขึ้นกับยี่ห้อยาที่เลือกใช้ ควรปรึกษาจิตแพทย์ก่อนทานยา
นอกจากนี้ก็มีการนำยากลุ่มอื่นๆมาเสริมกับยาต้านซึมเศร้า ในกรณีที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล หรือ ต้องการให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น เช่นกลุ่มยารักษาอาการทางจิตกลุ่มใหม่ ( Atypical antipsychotics) หรือ ยานอนหลับ เป็นต้น
สามขั้นตอน  ของการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างมีประสิทธิภาพ

  • การรักษาระยะเฉียบพลัน:  ช่วง 4-8 สัปดาห์แรกหลังวินิจฉัยเพื่อรักษาอาการของโรคซึมเศร้า
  • การรักษาแบบต่อเนื่อง: ต่อจากช่วงระยะเฉียบพลันอีก 6 เดือน เพื่อคงสภาพของการไม่มีอาการซึมเศร้าให้คงอยู่ต่อไป
  • การป้องกันการกลับสู่สภาพเดิม: หนึ่งปีถึงหลายปี ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยตามการพิจารณาของจิตแพทย์ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกของโรคซึมเศร้า

แก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยารักษาโรคซึมเศร้า

  • ยารักษาโรคซึมเศร้าที่ใช้ในปัจจุบันแทบจะไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย หากมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น  มักจะเกิด ในตอนเริ่มต้นใช้ยาใหม่ๆ และเป็นอยู่ชั่วคราว
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า ไมใช่ยาเสพติด ไม่ใช่ยานอนหลับ ไม่ใช่ระงับประสาท แต่กลับช่วยให้การทำงานของระบบประสาทดีขึ้น และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
  • การใช้ยาแบบ กินๆหยุดๆ หรือกินเฉพาะเวลาเครียด หรือ หยุดยาเลยถ้าอาการดีขึ้น เป็นวิธีที่ผิด นอกจากจะดื้อยาแล้ว ยังจะพบอาการถอนยาได้ และโรคซึมเศร้าจะกลับมาเป็นใหม่
  • แม้ว่าเพื่อนคุณจะเป็นโรคซึมเศร้าเหมือนกับคุณ แต่ไม่ควรกินยาของเพื่อน เพราะการตอบสนองของร่างกายไม่เหมือนกัน ควรปรึกษาจิตแพทย์ก่อนเสมอ
  • คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะดีขึ้นจากการกินยาจริง แต่ควรให้กำลังใจและสนับสนุนให้มีกิจกรรมร่วมกันเหมือนช่วงที่ไม่ป่วยด้วย
  • บางคนจำเป็นต้องกินยารักษาซึมเศร้าร่วมกับยานอนหลับไปสักระยะ เพื่อช่วยให้เสริมประสิทธิภาพในการรักษา ดังนั้น ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยติดยานอนหลับ การใช้ยานอนหลับภายใต้การดูแลของจิตแพทย์ไม่ทำให้เกิดการติดยา

จริงๆแล้วยารักษาโรคซึมเศร้าก็เป็นยารักษาโรคชนิดหนึ่ง ไม่ได้ต่างจากยารักษาโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เพียงแต่การวัดผลว่าโรคหายนั้น ดูจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้นไม่ทะเลาะกัน ซึ่งเมื่อโรคซึมเศร้าหายไปก็เหมือนกับได้ชีวิตที่สดใสกลับคืนมาอีกครั้ง


ติดวัดเมืองใหม่ ริม ถ.พระยาสัจจา อ.เมือง จ.ชลบุรี

Tel 087-992-6993