Home
| about us | เวชสำอางค์ | บทความ-สาระน่ารู้ |ติดต่อสอบถาม | แผนที่

บทความน่ารู้

- ความเครียด

- นอนไม่หลับ (Sleep problem)

- โรคซึมเศร้า

          ตอนที่ 1

          ตอนที่ 2

          ตอนที่ 3

          ตอนที่ 4

- โรคจิต….คืออะไร

- การผ่อนคลายความเครียด

- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี

- โรคแพนิค

- ไมเกรน

- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง

- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น

- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ

-โรคย้ำคิดย้ำทำ

คนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า ฉันจะเป็นจิตแพทย์ส่วนตัวให้เขาได้ไหม
พญ. ธรรมิกา  เทพพาที , จิตแพทย์


          เมื่อคุณมีประสบการณ์ได้ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สิ่งที่หนักใจมากๆ สำหรับคนใกล้ชิด จะมีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ไม่สามารถกระตุ้นให้เขาสนใจสิ่งรอบตัวได้ กับ เขามักจะมีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งจิตแพทย์ก็ไม่ได้อยู่ด้วยตลอดเวลา ดังนั้น คุณสามารถทำหน้าที่เป็นจิตแพทย์ส่วนตัวให้คนที่คุณรักได้ถ้าเขาเป็นโรคซึมเศร้า
เมื่อคุณแนะนำคนใกล้ตัวที่มีอาการซึมเศร้ามาพบจิตแพทย์ มีคนส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมมาพบ หรือยังมีอคติต่อจิตแพทย์ นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากเท่ากับคุณซึ่งเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดไม่ควรมีอคติกับผู้ป่วย และขอให้มั่นใจว่าคุณก็สามารถดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เบื้องต้นก่อนมาพบจิตแพทย์
เมื่อคุณมาพบจิตแพทย์ นอกจากการได้รับยารักษาโรคซึมเศร้า จะมีการรักษาทางจิตใจด้วยหรือเรียกว่าจิตบำบัด ซึ่งมีหลายแบบ เช่น
  • จิตบำบัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal psychotherapy ): วิธีนี้ช่วยให้คุณพัฒนาทักษะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางสังคมและระหว่างบุคคล ซึ่งเหมาะกับโรคซึมเศร้าที่มีปัญหาการเข้าสังคม
  • จิตบำบัดโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม (cognitive and behavioral therapy) : วิธีนี้จะช่วยลดอาการซึมเศร้าจากการปรับเปลี่ยนความคิดที่ไม่ถูกต้องไม่สมเหตุสมผล (cognitive errors) และนำไปสู่การปรับพฤติกรรมที่ผิดปกติจากความคิดผิดปกติต่อไป เหมาะกับโรคซึมเศร้าที่มีความคิดในแง่ลบ
  • จิตบำบัดเพื่อให้หยั่งรู้เข้าใจตนเอง (Insight oriented psychotherapy) เหมาะสำหรับผู้ที่มีปมในใจตั้งแต่วัยเด็กฝังลึกยาวนาน แต่จะใช้เวลานาน และมาพบจิตแพทย์บ่อยครั้ง และยังต้องอาศัยความร่วมมือที่ดีจากผู้ป่วย
  • จิตบำบัดครอบครัว (Family therapy) เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีความไม่เข้าใจกัน บทบาทหน้าที่ขัดแย้งกัน ซึ่งรักษาทุกคนในบ้านไปพร้อมๆกัน

         แม้ว่าคุณไม่ใช่จิตแพทย์ ทำจิตบำบัดไม่เป็น แต่คุณสามารถให้ความช่วยเหลือทางใจกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ และทำได้ดีเสียด้วย ขอเพียงแค่คุณมั่นใจในตัวเอง และใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของคนที่อยู่ใกล้ชิด ประเด็นสำคัญที่คุณไม่ควรมองข้ามคือ

  • “ผู้ป่วยทางใจก็จำเป็นต้องมีร่างกายที่แข็งแรง” หมายถึง สุขอนามัยที่สมบูรณ์จะช่วยให้ผู้ป่วยมีพละกำลังทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ คุณควรใส่ใจในอาหารการกิน การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ และการออกกำลังกายของผู้ป่วยด้วย เพราะผู้ป่วยจะไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้เท่าไหร่เมื่อมีอาการซึมเศร้า
  • อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า “อยากอยู่เงียบๆคนเดียว” เมื่อเขาไม่อยากทำอะไร เก็บตัว ไม่ควรปล่อยเขาไว้ลำพัง พยายามชวนพูดคุย ชวนออกไปข้างนอก หรือหาอะไรสนุกๆมาทำร่วมกัน จำเป็นกระตุ้นให้ผู้ป่วยออกจากโลกของซึมเศร้า
  • “ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว”  ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น  เมื่อผู้ป่วยเกริ่นว่าไม่อยากอยู่ อยากตาย อยากนอนหลับแล้วไม่ตื่น แม้ว่าจะไม่มีแผนการชัดเจนก็ไม่ควรประมาท ควรรีบถามถึงเจตนา ความทุกข์ที่ผู้ป่วยมี และการต้องการความช่วยเหลือ และป้องกันการฆ่าตัวตายที่สามารถทำได้ เช่น เก็บของมีคม แจ้งญาติที่ใกล้ชิดของผู้ป่วย หรือพามาพบจิตแพทย์เร็วกว่ากำหนดเพื่อประเมินอาการ
  • กินยารักษาซึมเศร้า กินนานๆดีกว่ากินสั้นๆ  เรื่องยาก็จำเป็นมากในการรักษาโรคให้หาย แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ชอบทานยาต่อเนื่อง จนครบระยะเวลาในการรักษา ดังนั้นควรหมั่นสอบถามถึงยาที่ทาน ผลข้างเคียง เพื่อช่วยในการกระตุ้นความสมัครใจในการทานยาด้วย
  • อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจเรื่องสำคัญๆในชีวิตตอนที่ยังซึมเศร้า เนื่องจากผู้ป่วยซึมเศร้ามักประเมินปัญหาใหญ่หรือเล็กเกินความเป็นจริง ควรแนะนำให้เขาชะลอไปก่อนจนกว่าจะหายค่อยตัดสินใจ เช่น การลาออกจากงาน การหย่าร้าง การลงทุนทำธุรกิจใหญ่ๆ เป็นต้น
  • ถ้ามีนิสัยอะไรเปลี่ยนไปบ้างช่วงที่ป่วย นั่นอาจเป็นโรค ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือ อคติ ถ้าเราเข้าใจผู้ป่วยแม้ว่าเขาจะทำอะไรผิดพลาดไปบ้างเราจะไม่ถือสา แต่ถ้ามองว่าเป็นเพราะนิสัยไม่ดี ทำตัวเปลี่ยนไปไม่คงเส้นคงวา คุณจะมองคนที่มีอาการซึมเศร้าอย่างไม่ถูกต้อง

         ดังนั้นเมื่อคุณเข้าใจ ใส่ใจ ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้เขามีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น คุณก็ไม่ต่างจากการเป็นจิตแพทย์ส่วนตัวสำหรับผู้ป่วยเลย ถ้าคุณมีข้อสงสัยในการดูแลผู้ป่วยก็สามารถขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ได้ค่ะ


ติดวัดเมืองใหม่ ริม ถ.พระยาสัจจา อ.เมือง จ.ชลบุรี

Tel 087-992-6993