Home
| about us | เวชสำอางค์ | บทความ-สาระน่ารู้ |ติดต่อสอบถาม | แผนที่

บทความน่ารู้

- ความเครียด

- นอนไม่หลับ (Sleep problem)

- โรคซึมเศร้า

          ตอนที่ 1

          ตอนที่ 2

          ตอนที่ 3

          ตอนที่ 4

- โรคจิต….คืออะไร

- การผ่อนคลายความเครียด

- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี

- โรคแพนิค

- ไมเกรน

- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง

- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น

- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ

-โรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคแพนิค... โรคที่ดูน่ากลัวแต่ไม่น่ากลัว

          โรคแพนิค(Panic Disorder) เป็นโรคในกลุ่มวิตกกังวล (Anxiety)ชนิดหนึ่งที่มีคนเป็นกันมากและเป็นกันมานานแล้ว แต่ประชาชนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จักและยังไม่มีชื่อโรคอย่างเป็นทางการในภาษาไทย บางคนอาจเรียกโรคนี้ว่า


"โรคหัวใจอ่อน"
"โรคประสาทลงหัวใจ"
"โรคตื่นตระหนก"
"โรคประสาทอัตโนมัติไวเกิน"


โรคแพนิคมีอาการอย่างไร
          แต่จริงๆแล้วโรคนี้ "ไม่มีปัญหาอะไรที่หัวใจ" และ "ไม่มีอันตรายถึงชีวิต" เวลามีอาการผู้ป่วย จะรู้สึกใจสั่น หัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทัน หายไม่เต็มอิ่ม ขาสั่น มือสั่น มือเย็น วิงเวียน มึนศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ขณะมีอาการผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัวด้วย ว่าตัวเองกำลังจะตาย กลัวเป็นโรคหัวใจ บางคนกลัวว่าตนกำลังจะเสียสติหรือเป็นบ้า

          อาการต่างๆมักเกิดขึ้นทันทีและค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนเต็มที่ในเวลาประมาณ 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆทุเลาลง อาการมักจะหายหรือเกือบหายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากอาการแพนิคหายผู้ป่วยมักจะเพลีย และในช่วงที่ไม่มีอาการผู้ป่วยมักจะกังวลกลัวว่าจะเป็นอีกอาการแพนิคจะเกิดที่ไหนเมื่อไรก็ได้และคาดเดาได้ยากแต่ผู้ป่วยมักพยายามสังเกต
และเชื่อมโยงหาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการเพื่อที่ตนจะได้หลีกเลี่ยงและรู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้บ้าง เช่น เกิดอาการขณะขับรถก็จะไม่กล้าขับ ขณะกำลังเดินข้ามสะพานลอยก็จะไม่กล้าขึ้นสะพานลอย บางรายไม่กล้าไปไหนคนเดียวหรือไม่กล้าอยู่คนเดียวเพราะกลัวว่าถ้าเกิดอาการขึ้นมาอีกจะไม่มีใครช่วย ในบางรายอาจมีเหตุกระตุ้นจริงๆบางอย่างได้ เช่น การออกกำลังหนักๆ หรือเครื่องดื่ม ที่มีสารคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำโคล่า ในกรณีแบบนี้ควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆเหล่านี้ เวลามีอาการทีไรต้องไปหาหมอทุกที หมอก็บอกว่าไม่มีอะไร เป็นไปได้ไงขณะเกิดอาการผู้ป่วยมักกลัวและรีบไปโรงพยาบาลซึ่งแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินมักตรวจไม่พบความผิดปกติและมักได้รับการสรุปว่าเป็นอาการเครียดหรือคิดมาก ซึ่งผู้ป่วยก็มักยอมรับไม่ได้และปฏิเสธว่าไม่ได้เครียด เมื่อเกิดอาการอีกในครั้งต่อมาผู้ป่วยก็จะไปโรงพยาบาลอื่นและมักได้คำตอบแบบเดียวกัน ผู้ป่วยหลายๆ รายไปปรึกษาแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพ โดยเฉพาะหัวใจซึ่งก็มักได้รับการตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียดและไม่พบความผิดปกติอะไรที่สามารถอธิบายอาการดังกล่าวได้ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยกังวลมากขึ้นไปอีก อาการต่างๆที่เกิดขึ้นเรียกว่า อาการแพนิค (panic attack) ซึ่งแปลว่า "ตื่นตระหนก"

          เราจะสังเกตุได้ว่าอาการต่างๆจะคล้ายกับอาการของคนที่กำลังตื่นตระหนก ในโรคแพนิคผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิคนี้ขึ้นมาเอง โดยไม่มีเหตุกระตุ้น และ คาดเดาไม่ถูก ว่าเมื่อไรจะเป็นเมื่อไรจะไม่เป็น การไม่รู้ว่าตนกำลังเป็นอะไรจะยิ่งเพิ่มความตื่นตระหนกให้รุนแรงขึ้น อาการแพนิค ไม่มีอันตราย อาการนี้ทำให้เกิดความไม่สบายเท่านั้นแต่ ไม่มีอันตราย สังเกตุได้จากการที่ผู้ป่วยมักจะ มีอาการมานาน บางคนเป็นมาหลายปี เกิดอาการแพนิคมาเป็นร้อยครั้ง แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไรสักที


โรคแพนิครักษาหายไหม
          ในปัจจุบันเราพอจะทราบว่าผู้ป่วยโรคแพนิคมีปัญหาในการทำงานของสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการ "ตื่นตระหนก" โดยเป็น ความผิดปกติของสารสื่อนำประสาท บางอย่าง เราจึงสามารถรักษาโรคนี้ได้ด้วยยา ยาที่ใช้รักษาโรคนี้จะมี 2 กลุ่มคือ

1. ยาป้องกันอาการแพนิค
เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า ออกฤทธิ์ช้าแต่จำเป็นตรงกับโรคที่สุด ปรับยาครั้งหนึ่งต้องรอ 2-3 สัปดาห์จึงจะเริ่มเห็นผลคืออาการแพนิคจะห่างลง และเมื่อเป็นขึ้นมาอาการก็จะเบาลงด้วย เมื่อยาออกฤทธิ์เต็มที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพนิคเกิดขึ้นเลย ยากลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถลดยาจนหยุดยาได้เมื่อโรคหาย แพทย์จะค่อยๆเพิ่มยาป้องกันจนผู้ป่วย "หายสนิท" คือไม่มีอาการเลย แล้วให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อไปเป็นเวลา 6-12 เดือน หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยค่อยๆหยุดยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการกลับมาอีก แต่ก็มีบางรายที่มีอาการอีกเมื่อลดยาลง


2. ยาฉุกเฉินลดอาการขณะเกิดแพนิค
เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เฉพาะเมื่อเกิดอาการขึ้นมา เป็นทีกินที กินแล้วหายเร็ว เป็นยาในกลุ่มคลายกังวลหรือยานอนหลับ ยากลุ่มนี้ไม่ได้เป็นยารักษาโดยตรง ดังนี้ต้องทานยากลุ่มป้องกันแพนิคด้วยเสมอ เมื่อหยุดยาฉุกเฉินกระทันหันจะเกิดอาการถอนยา ซึ่งจะมีอาการเหมือนอาการแพนิค ทำให้แยกแยะไม่ได้ว่าหายหรือยัง ดังนั้นแพทย์จะเน้นกับผู้ป่วยว่าให้กินเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น
นอกจากนี้การดูแลสุขภาพก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคแพนิคได้ในระยะยาว เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเสี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง หยุดสูบบุหรี่ ลดความเครียดของตัวเอง

 

โดย
พญ. ธรรมิกา เทพพาที

ติดวัดเมืองใหม่ ริม ถ.พระยาสัจจา อ.เมือง จ.ชลบุรี

Tel 087-992-6993