Home
| about us | เวชสำอางค์ | บทความ-สาระน่ารู้ |ติดต่อสอบถาม | แผนที่

บทความน่ารู้

- ความเครียด

- นอนไม่หลับ (Sleep problem)

- โรคซึมเศร้า

          ตอนที่ 1

          ตอนที่ 2

          ตอนที่ 3

          ตอนที่ 4

- โรคจิต….คืออะไร

- การผ่อนคลายความเครียด

- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี

- โรคแพนิค

- ไมเกรน

- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง

- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น

- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ

-โรคย้ำคิดย้ำทำ

 

วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง


การติดบุหรี่เป็นการติด 2 ทางร่วมกันคือ

          1. การติดทางร่างกาย คือการที่ร่างกายติดสารนิโคติน เกิดจากการสูบบุหรี่อยู่เป็นประจำจนร่างกายติดสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติด ที่อยู่ในบุหรี่ เมื่อหยุดสูบบุหรี่สารนิโคตินในร่างกายจะลดลงทำให้เกิดอาการขาดนิโคตินได้แก่ อาการหงุดหงิด กระวนกระวาย คิดอะไรไม่ออก ต้องหาบุหรี่มาสูบเพื่อเติมนิโคตินให้เพียงพอดังเดิม เมื่อหยุดสูบบุหรี่ภาวะเสพติดทางร่างกายจะค่อย ๆ หายไป ในเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ดังนั้นถ้าคุณสามารถทนหยุดสูบบุหรี่ได้สัก 1 เดือน ร่างกายของคุณก็จะพ้นจากภาวะติดบุหรี่แล้ว
          
         2. การติดทางจิตใจ คือการสูบบุหรี่จนติดเป็นนิสัย เกิดจากการเรียนรู้ว่าการสูบบุหรี่ทำให้หายเครียด เพลิดเพลิน หายเบื่อ สมองแล่น ทำให้เกิดการติดอกติดใจอยากสูบเรื่อยๆจนติดเป็นนิสัยหรือเป็นความเคยชินอย่างหนึ่ง เมื่อไรที่รู้สึกเครียดหรือเบื่อๆก็จะคิดถึงบุหรี่
ภาวะเสพติดทางจิตใจเป็นสาเหตุสำคัญ ของการกลับมาสูบใหม่หลังจากเลิกได้แล้ว ดังนั้นผู้ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่และผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วยังต้องปฏิบัติตนเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ต่อไปเรื่อยๆจนเกิดเป็น " นิสัย " หรือเป็นความเคยชินอันใหม่ที่ไม่มีการสูบบุหรี่

        วิธีการเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง ต้องต่อสู้กับการ " ติดทางใจ" ก่อน คำแนะนำมีดังนี้

         1. หลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุ หรือกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความอยากสูบบุหรี่ เช่น
• ไม่พกบุหรี่ติดตัว
• ทิ้งอุปกรณ์สูบบุหรี่ทั้งหมด
• ไม่เข้าใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่
• เลือกที่นั่งในบริเวณที่ห้ามสูบบุหรี่
• ถ้าดื่มกาแฟหรือเหล้าแล้วอยากสูบบุหรี่ก็ให้หยุดดื่มหรือเปลี่ยนไปดื่มอย่างอื่นแทน
• ถ้าต้องสูบบุหรี่หลังอาหารก็ให้ไป แปรงฟัน ทันทีที่รับประทานอาหารอิ่ม

        2. เบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อเกิดความอยากสูบบุหรี่ขึ้นมา เช่น อาบน้ำ เล่นกีฬา อ่านหนังสือ โทรศัพท์ เล่นคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

        3. เสริมสร้างกำลังใจ ในการเลิกสูบบุหรี่ เช่น
• คิดทบทวนผลเสียของการสูบบุหรี่และผลดีของการหยุดสูบบุหรี่
• บอกคนรอบข้างว่าคุณกำลังพยายามหยุดสูบบุหรี่ เพื่อให้พวกเขาจะได้ช่วยเชียร์และไม่มายั่วยุหรือส่งบุหรี่ให้ หรือ เวลาคุณหงุดหงิด เขาจะได้เข้าใจ
• สร้างเป้าหมายให้คุณต้องพยายามอย่างจริงจังมาก ขึ้นเช่น เก็บเงินค่าบุหรี่ใส่กระปุกออมสินไว้ฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือให้รางวัล ตัวเองถ้าเลิกสูบบุหรี่ได้ เช่น ซื้อของที่อยากได้หรือไปเที่ยวพักผ่อนต่างประเทศ เป็นต้น

        4. หาวิธีอื่นๆในการจัดการกับความเครียด
วิธีจัดการกับความเครียดนั้นมีมากมายหลายวิธี บางคนใช้วิธีดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา บางคนใช้วิธีปิดห้องแล้วตะโกนดังๆ ฯลฯ แต่คนที่สูบบุหรี่มีวิธีที่ง่ายและรวดเร็วกว่านั้นคือ สูบบุหรี่ ไม่ว่าเครียดจากอะไรก็ตามสูบบุหรี่แล้วจะสบายไปสักพักหนึ่งอย่างทันอกทันใจ ทำให้ไม่สามารถทนใช้วิธีอื่นๆ ซึ่งอาจจะได้ผลเช่นกัน แต่ช้ากว่าดังนั้นผู้ที่ใช้บุหรี่เพื่อลดความเครียด และต้องการเลิกสูบบุหรี่คงต้องศึกษา หรือสังเกตุดูพรรคพวกเพื่อนฝูง ที่ไม่สูบบุหรี่ดูว่าเขาจัดการกับความเครียดอย่างไรถึงยัง "ผ่านพ้นความเครียด" ทั้งๆที่เขาก็เครียดเหมือนกัน ทดลองใช้วิธีจัดการกับความเครียดแบบต่างๆดู แล้วจดจำวิธีที่คุณชอบเอาไว้ใช้

       5. กำหนดวันที่จะหยุดสูบอย่างเด็ดขาด
ให้กำหนดวันที่จะหยุดสูบบุหรี่ไว้ล่วงหน้าเพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวและ " ทำใจ " อาจจะกำหนดโดยใช้วันที่มีความหมายพิเศษบางอย่าง เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน วันเกิดลูก หรืออาจกำหนดเป็นระยะเวลา เช่น อีก 3 วัน 7 วัน หรือ 10 วัน หรืออีก 2 สัปดาห์ก็ได้ หลังจากนั้นให้ใช้เวลาช่วงนี้ค่อยๆพยายามลดการสูบบุหรี่ลง โดยจำกัดจำนวนบุหรี่ที่จะสูบในแต่ละวันลงเรื่อยๆ สูบเพียงครึ่งมวนแล้วทิ้ง กำหนดวันที่จะไม่สูบบุหรี่เลยทั้งวันจากสัปดาห์ละ 1 วัน แล้วค่อยๆเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 วัน 3 วัน หรือค่อยๆเพิ่มเป็น 2 วันติดกัน 3 วันติดกัน ฯลฯ
ในระหว่างนี้ให้พยายามปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวมาแล้วไปด้วยคือ หลีกเลี่ยงสิ่งยั่วยุ เบี่ยงเบนความสนใจ เสริมสร้างกำลังใจ และ เปลี่ยนวิธีจัดการกับความเครียด เมื่อถึงวันที่คุณกำหนดว่าจะหยุดสูบบุหรี่ ให้ทิ้งบุหรี่ที่เหลือและอุปกรณ์การสูบบุหรี่ให้หมด แล้วหยุดสูบบุหรี่ทันที แล้วปฏิบัติตามวิธีข้างต้นต่อไปจนสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้เด็ดขาดและเกิดเป็น " นิสัย " หรือความคุ้นเคยอันใหม่ที่ไม่ต้องสูบบุหรี่

การใช้ยาช่วยอดบุหรี่

          การใช้ยาช่วยก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้การอดบุหรี่ง่ายขึ้น การใช้ยาสามารถช่วยลดความทรมานจากการติดทางร่างกายได้ ทำให้เราสามารถทุ่มเทกำลังใจในการต่อสู้กับการติดทางจิตใจได้เต็มที่ ยาที่มีการศึกษาว่าช่วยให้การเลิกสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จมากขึ้นได้แก่

1. การให้นิโคตินทดแทน ในรูปของหมากฝรั่งนิโคตินหรือ แผ่นปะนิโคติน หลักการของทั้งหมากฝรั่งและแผ่นปะนิโคตินคือการให้นิโคตินแก่ร่างกายในขนาดต่ำๆ เพื่อระงับอาการขาดนิโคตินแล้วค่อยๆ ลดขนาดยาลงเรื่อยๆ จนหมด

2. การใช้ยาอดบุหรี่ ช่วยให้การเลิกสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จมากขึ้น ยานี้จะออกฤทธิ์ที่สมองทำให้ไม่เกิดอาการขาดนิโคตินเมื่อหยุดสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังพบว่ายานี้ยังช่วยลดความอยากบุหรี่ด้วย ดังนั้นการใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์


โดย
พญ. ธรรมิกา เทพพาที

ติดวัดเมืองใหม่ ริม ถ.พระยาสัจจา อ.เมือง จ.ชลบุรี

Tel 087-992-6993