บทความน่ารู้
- ความเครียด
- นอนไม่หลับ (Sleep problem)
- โรคซึมเศร้า
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4
- โรคจิต….คืออะไร
- การผ่อนคลายความเครียด
- ลูกขาดวินัย ทำอย่างไรดี
- โรคแพนิค
- ไมเกรน
- วิธีเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเอง
- เมื่อลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้น
- อกหักเรื่องจี๊ด ๆ
-โรคย้ำคิดย้ำทำ |
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางใจ พบเฉพาะคนที่อ่อนแอเท่านั้น จริงหรือ?
พญ. ธรรมิกา เทพพาที, จิตแพทย์
มีคนส่วนหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจ และมองว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่ต้องรักษา แต่เป็นเพราะคนที่เป็นซึมเศร้า อ่อนแอ ไม่ยอมลุกขึ้นสู้กับปัญหา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับใจเท่านั้น ขอบอกว่า คุณคิดผิดค่ะ ปัจจุบัน โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก เป็นต้น ที่มีความไม่สมดุลของระบบสารเคมีในร่างกาย และที่สำคัญมีโอกาสถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้อีกด้วย เพียงแต่การแสดงอาการครั้งแรกของโรคซึมเศร้าอาจมีปัจจัยกระตุ้นมาจากสภาพจิตใจ เช่น ผิดหวังอย่างรุนแรง เครียดสะสมมากจนทนไม่ไหว แต่ที่จริงแล้วเรามีระเบิดเวลาอยู่ในตัวอยู่แล้วค่ะ ซึ่งระเบิดเวลานี้เกิดได้จาก
- กรรมพันธุ์ แต่อย่าเพิ่งวิตกเกินไป ไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณเป็นโรคซึมเศร้าแล้วลูกของคุณจะต้องเป็นด้วยเสมอไป เพียงแต่มีโอกาส ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการเลี้ยงดูลูกคุณให้เป็นเด็กที่มี EQ สูง คือ รู้จักเข้าสังคม รู้จักแบ่งปัน และหาวิธีคลายเครียดให้ลูกอย่างเหมาะสมตั้งแต่เด็ก จะเป็นเกราะป้องกันอาการซึมเศร้าได้เมื่อเขาโตขึ้น
- การไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ตัวอย่างเช่น สารซีโรโตนิน สารโดปามีน สารนอร์เอพิเนฟริน เป็นต้น ถ้าน้อยไปก็ทำให้เกิดอาการเศร้าได้ ซึ่งยารักษาโรคซึมเศร้าไปมีผลกับสารเคมีเหล่านี้ในสมองของผู้ป่วยให้กลับมาสมดุลเหมือนเดิม อาการซึมเศร้าจึงหาย ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจหาสารเหล่านี้ในกระแสเลือด
- การมีปัญหาสุขภาพทางกายอื่นๆ โรคซึมเศร้าอาจเกิดเป็นโรคร่วมกับโรคทางกายได้โดยบังเอิญ เช่น โรคไตวาย โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็ง เอดส์ เป็นต้น และขณะเดียวกันยารักษาโรคทางกายก็สามารถทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เคมีบำบัด เป็นต้น หรือ แม้แต่โรคบางอย่างก็สามารถทำให้เกิดโรคซึมเศร้าแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น โรคทัยรอยด์ โรคพุ่มพวง (SLE) โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นต้น นอกจากนี้คนที่ใช้ยาเสพติดก็เสี่ยงกับโรคซึมเศร้าด้วย จะสังเกตได้ว่าคนที่ดื่มเหล้า ก็ดื่มเพื่อคลายเครียด ดื่มเพื่อให้หลับ หรือเสพยาก็เพื่อให้ลืมเรื่องที่เครียด เมื่อสืบค้นไปดีๆอาจพบว่าคนเหล่านี้มีภาวะซึมเศร้าอยู่
- นิสัยใจคอ บุคลิกภาพบางอย่าง เมื่อทำจนเคยชินจะกลายเป็นความเครียดสะสม และมักก่อให้เกิดปัญหากับคนรอบข้าง และลงเอยด้วยซึมเศร้าได้ เช่น คนที่มองโลกในแง่ร้าย ก็มักจะไม่เป็นมิตรกับใคร เวลาเกิดปัญหาก็ไม่อยากปรึกษาใคร คนที่ย้ำคิดย้ำทำ เวลาผิดหวังก็จะเหมือนคิดวนไปมาเหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง ชีวิตไปเดินหน้าต่อไป หรือคนที่ไวต่อความรู้สึก ก็จะจับพิรุธ สังเกตสีหน้าแววตาคนอื่นไวมากเกิน บางครั้งอาจไม่ถูกก็ได้ เป็นต้น เมื่อคุณตรวจสอบว่ามีนิสัยอะไรที่ทำให้เกิดซึมเศร้าได้ก็ควรปรับปรุงเพื่อป้องกันตนเองจากโรคซึมเศร้า
- เหตุการณ์ในชีวิต ข้อนี้หลีกเลี่ยงยากหน่อย เพราะเหนือการควบคุมของเราเพียงฝ่ายเดียว เช่น การเสียชีวิตของคนที่เรารัก การถูกออกจากงาน การหย่าร้าง การเกิดมหันตภัยที่มีการสูญเสีย สิ่งที่เรารับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้คือ ตั้งสติให้มั่น และ พึงพอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่เหลืออยู่ และหาทางแก้ปัญหาทีละเรื่องไป
ดังนั้น อย่าเพิ่งสรุปว่าคนที่อ่อนแอเท่านั้นที่จะเป็นโรคซึมเศร้า คนเราทุกคนสามารถเป็นโรคนี้ได้แม้ว่าคุณจะเคยเข้มแข็งมากแค่ไหน เพื่อจะได้เห็นใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าว่าเขาไม่ได้แกล้งเป็น และเขาทุกข์ทรมานแม้เรื่องที่ทุกข์อาจดูไม่มากในสายตาเรา เพราะว่าเขากำลังป่วย ร่างกายของพวกเขากำลังแปรปรวนและต้องการรักษาทั้งทางยา ต้องการกำลังใจจากคนใกล้ชิด และการยอมรับจากสังคม

|